วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554

30 วิธีง่าย ๆ ที่ทุกบ้านควรรู้อยู่กับโลกร้อน

30 วิธีง่าย ๆ ที่ทุกบ้านควรรู้อยู่กับโลกร้อ
วันจันทร์ที่ 08 พฤศจิกายน 2010 เวลา 13:57 น.
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ :



 "โลกร้อน" คำ ๆ นี้มีการพูดถึง หรือรณรงค์ให้เห็นกันอยู่บ่อย ๆ เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อโลกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความแปรปรวนของอากาศ โรคร้ายเกิดใหม่ รวมไปถึงภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายบ่อยขึ้น เช่นเดียวกับบ้านเราที่ตอนนี้คาดการณ์กันว่า ปัญหาน้ำท่วมในหลาย ๆ จังหวัด ส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้น้ำทะเลขยายตัวมากขึ้น

         อย่างไรก็ดี ถึงแม้วันนี้จะหยุดโลกร้อนไม่ได้แล้ว เพราะก๊าซเรือนกระจกที่อยู่ในชั้นบรรยากาศมีความเข้มข้นสูงสุดเท่าที่เคยมีมาในช่วงเวลา 650,000 ปี แต่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะสถาบันที่สำคัญอย่างครอบครัวก็สามารถช่วยบรรเทาอาการป่วยของโลกได้ด้วย 30 วิธีง่าย ๆ ดังต่อไปนี้
       
       10 เรื่องง่าย ๆ ทำได้ที่บ้าน
       
       - ใช้หลอดไฟประหยัดพลังงาน เช่น เปลี่ยนหลอดไส้เป็นหลอดตะเกียบ ใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ผอมใหม่ T5
       
       - ถ้าไม่ร้อนมากเกินไป ควรใช้พัดลมแทนเครื่องปรับอากาศ แต่ถ้าต้องเปิดเครื่องปรับอากาศก็เปิดที่ 25 องศาเซลเซียส โดยตั้งเวลาเปิดเครื่องให้ทำงานเท่าที่จำเป็น
       
       - ปิดไฟในห้องนอนที่ไม่มีคนอยู่ ถอดปลั๊กทีวี วิทยุ คอมพิวเตอร์ เครื่องเสียง หรืออื่น ๆ เมื่อเลิกใช้งาน
       
       - อย่าใส่ของร้อนเข้าตู้เย็น หรือใส่ของจนเต็มตู้ และไม่ควรเปิดตู้เย็นบ่อย ๆ หมั่นละลายน้ำแข็งในช่องแช่แข็งด้วย เพื่อประหยัดพลังงานในการทำงานของตู้เย็น
       
       - ใช้ไม้กวาด กวาดบ้าน ซักผ้าด้วยมือ ได้ออกกำลังกาย และประหยัดไฟกว่าใช้เครื่องดูดฝุ่น หรือเครื่องซักผ้า แต่ถ้าไม่มีเวลา ก็ควรซักเครื่องทีละมาก ๆ
       
       - ถ้ามีของใช้ในบ้านเสีย ควรหาทางซ่อมให้กับมาใช้ได้ใหม่ หรือดัดแปลงให้ใช้ประโยชน์ในทางอื่น อย่าเพิ่งรีบทิ้ง หรือซื้อของใหม่
       
       - แยกขยะที่บ้านเป็น 2 ประเภท คือ ขยะเปียก (เศษอาหาร) ไว้ทำปุ๋ย กับขยะรีไซเคิลไว้ขายอาแปะซาเล้ง เช่น เศษกระดาษ พลาสติก แก้ว เป็นต้น
       
       - เก็บน้ำมันพืชที่ใช้แล้วไปขายที่ปั๊มน้ำมันบางจาก เพื่อนำไปทำไบโอดีเซล
       
       - ใช้น้ำอย่างประหยัด ใช้โถชักโครกแบบประหยัดน้ำ อย่าปล่อยให้มีน้ำรั่ว หากรั่วรีบซ่อมทันที
       
       - ปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้าน มีพื้นที่น้อยก็ปลูกไม้กระถาง มีพื้นที่มากก็ปลูกไม้ยืนต้น

      10 วิธีเดินทางประหยัดพลังงาน
       
       - คิดเสมอว่า การเดิน เป็นวิธีเดินทางประหยัดพลังงานที่สุด และเป็นการออกกำลังกายด้วย
       
       - ขี่จักรยานไปตลาด หรือไปติดต่อธุระในสถานที่ใกล้บ้าน หรือถ้าที่ทำงานอยู่ใกล้ก็ขี่ไปทำงานเลยก็ได้
       
       - ใช้บริการรถสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถตู้ รถไฟลอยฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน ช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และยังช่วยสร้างความต้องการให้เกิดบริการรถสาธารณะมากขึ้นในอนาคต
       
       - จะไปนอกเส้นทางปรกติ พยายามใช้รถแท็กซี่แทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว เพราะมีรถแท็กซี่วิ่งตลอดเวลาอยู่แล้ว
       
       - ถ้าต้องขับรถยนต์ส่วนตัว ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 90 กม./ชม. จะประหยัดน้ำมัน พยายามรักษาความเร็ว ไม่ควรเหยียบเบรก หรือเร่งเครื่องโดยไม่จำเป็น
       
       - หมั่นเช็กลมยางของรถยนต์ให้ตรงตามขนาดที่เหมาะสม เพราะถ้าลมยางอ่อนจะทำให้เปลืองน้ำมันมาก
       
       - ดับเครื่องเมื่อจอดรถเสมอ
       
       - สนับสนุนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล หรือแก๊สโซฮอล์ แทนการใช้น้ำมันเบนซิน หรือดีเซล
       
       - จัดระบบ Car pool เช่น รวมกลุ่มคนอื่นซึ่งมีที่ทำงานอยู่ในทางเดียวกัน โดยให้นั่งรถยนต์คันเดียวกันแทนการขับรถยนต์ไปกันคนละคัน
       
       - การเดินทางไกล ๆ พยายามลดการเดินทางด้วยเครื่องบิน เพราะเครื่องบินปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อผู้โดยสารมากที่สุดเมื่อเทียบกับการเดินทางประเภทอื่น ๆ ถ้าเป็นไปได้ใช้รถไฟ หรือรถประจำทางแทน

      10 เรื่องต้องคิดก่อนจับจ่ายซื้อของ
       
       - ไม่รับถุงพลาสติกจากร้านค้า ควรพกถุงผ้าติดตัวไว้ใส่ของเสมอ หรือบางครั้งอาจต้องพกถุงพลาสติกส่วนตัวไว้สำหรับใส่ของที่อาจเลอะเทอะได้
       
       - เลือกซื้อของมือสองแทนการซื้อของใหม่ มีของมือสองมากมายที่ใช้ได้ดี และราคาถูกเสียด้วย เช่น เสื้อผ้า หนังสือ วีซีดี คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
       
       - ซื้อของที่บรรจุในขวดแก้วดีกว่าวัสดุแบบอื่น ๆ เช่น น้ำอัดลม น้ำปลา ซอส เป็นต้น เพราะขวดแก้วน้ำกลับไปบรรจุซ้ำได้อีก
       
       - ไม่ซื้อของที่บรรจุในโฟม หรือใช้หีบห่อฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น ถ้าต้องใช้โฟม หรือพลาสติกจริง ๆ พยายามหาพลาสติก หรือโฟมแบบที่ย่อยสลายได้เองในธรรมชาติ
       
       - พยายามเลือกของที่สามารถใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีกได้ ไม่ควรซื้อของที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ใช้ถ่านไฟฉายแบบชาร์จไฟได้แทนถ่านธรรมดาแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
       
       - ซื้อเครื่องกรองน้ำมาใช้แทนการซื้อน้ำขวด หรือถังน้ำ
       
       - ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 และค่าประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า EER ไม่น้อยกว่า 10.6 (ยิ่งสูงยิ่งดี)
       
       - เลือกของที่ทำงานโดยต้องไม่ใช้ไฟฟ้า หรือถ่าน เช่น ที่โกนหนวดแบบธรรมดา นาฬิกาไขลาน หรือเครื่องใช้ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เช่น เครื่องคิดเลข เครื่องทำน้ำร้อน เป็นต้น
       
       - สนับสนุนสินค้าในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ผลไม้ หรือของใช้อื่น ๆ เพราะสินค้าจากต่างประเทศต้องสิ้นเปลืองพลังงานขนส่งมากกว่า
       
       - คิดทบทวนก่อนจ่ายเงินซื้อของทุกครั้งว่า จำเป็นต้องใช้ของนั้นจริงหรือไม่ เราใช้ของที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าแล้วหรือยัง
       
       30 วิธีที่กล่าวมานี้ ถึงแม้บางเรื่องจะเป็นเรื่องเดิม ๆ ที่เรารู้กันดีอยู่แล้ว แต่หากค่อย ๆ ทำ และช่วยกัน ทีมงานเชื่อว่า มือเล็ก ๆ จากหลาย ๆ ครอบครัว สามารถบรรเทาอาการป่วยของโลกได้ไม่มากก็น้อย
       
       //////////////
       
       ข้อมูลประกอบข่าว
       
       การศึกษาภัยน้ำท่วมโดยคณะนักวิทยาศาสตร์แห่ง Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ในปี 2530 ได้คำพยากรณ์ว่า ในอนาคตอีก 100 ปี เมื่อโลกร้อนขึ้น และน้ำทะเลขยายตัว ระดับน้ำทะเลจะเพิ่ม 18-50 เซนติเมตร ซึ่งตัวเลขนี้ไม่ได้พิจารณาการละลายของน้ำแข็งบริเวณขั้วโลก ดังนั้น หนทางหนึ่งที่จะชะลอการเพิ่มระดับน้ำทะเล คือควบคุมอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลก ไม่ให้เพิ่มเกิน 1 องศาเซลเซียส ควบคุมปริมาณ CO2 ในอากาศให้ต่ำกว่า 450 ppm และถ้าทำได้โลกในอนาคตอีก 100 ปีก็จะปลอดภัยจากเหตุการณ์น้ำท่วม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น