กฎหมายและข้อบัญญัติ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม


กฎหมายและข้อบัญญัติ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ

กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศเป็นสิ่งที่จัดทำขึ้นหรือกำหนดขึ้นมา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดำรงกลยุทธและบังคับใช้มาตรการต่างๆ ที่ได้วางไว้ ให้มีประสิทธิผลในทางปฏิบัติ ซึ่งจะนำไปสู่การควบคุมและแก้ไขภาวะมลพิษทางอากาศ เพื่อรักษาอากาศให้มีคุณภาพที่ดี ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยและความผาสุกของประชาชน ตลอดจนไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งมีชีวิตและสภาวะแวดล้อมต่างๆ
กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ที่เกี่ยวกับการควบคุมมลพิษทางอากาศ ได้กระจายอยู่ในกฏหมายแม่บทหลายๆ ฉบับ โดยมี พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เป็นกฏหมายพื้นฐานที่มีขอบข่ายครอบคลุมการป้องกันและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการควบคุมภาวะมลพิษทุกๆ ด้าน รวมถึงการป้องกันและรักษาคุณภาพอากาศและการควบคุม มลพิษทางอากาศด้วย นอกจากนี้ยังมีกฏหมายอื่นๆอีกหลายบทบัญญัติและข้อกำหนดที่สามารถใช้ควบคุม และป้องกันภาวะมลพิษทางอากาศได้ เช่น พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 เป็นต้น
ที่มา : รวบรวมจาก กองอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร



พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535


มีบทบัญญัติเฉพาะสำหรับการควบคุมมลพิษทางอากาศ คือ ส่วนที่ 4 มลพิษทางอากาศและเสียงมาตรา 64-68 โดยมีรายละเอียดพอสรุปได้ดังนี้คือ
มาตรา 64 ถึง 67
ห้ามมิให้นำยานพาหนะที่ก่อให้เกิดมลพิษเกินกว่ามาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดมาใช้ โดยให้ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ยานพาหนะหยุด เพื่อตรวจสอบเครื่องยนต์และอุปกรณ์ของยานพาหนะนั้น และ มีอำนาจสั่งห้ามใช้ยานพาหนะนั้นโดยเด็ดขาดหรือจนกว่าจะได้มีการแก้ไขปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานโดย การทำเครื่องหมาย ให้เห็นปรากฏเด่นชัด "ห้ามใช้เด็ดขาด" หรือ "ห้ามใช้ชั่วคราว" ณ ส่วนใดส่วนหนึ่งของยาน พาหนะ
ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่ง ห้ามใช้ยานพาหนะของพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท (มาตรา 102)
ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้หยุดยานพาหนะเพื่อตรวจสอบเครื่องยนต์และอุปกรณ์ของยานพาหนะของพนักงาน เจ้าหน้าที่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 103)
มาตรา 68
ให้รัฐมนตรี มีอำนาจกำหนดประเภทของแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยอากาศเสีย รังสี หรือ มลพิษอื่นใดที่อยู๋ในสภาพเป็นควัน ไอ ก๊าซ เขม่า ฝุ่นละอองเถ้าถ่านหรือมลพิษอากาศในรูปแบบใด ออกสู่บรรยากาศไม่เกิน มาตรฐานควบคุมมลิพิษจากแหล่งกำเนิดโดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษที่กำหนดดังกล่าว ต้องติดตั้งหรือจัดให้มีระบบบำบัดอากาศเสีย อุปกรณ์หรือเครื่องมืออื่นใดสำหรับการควบคุม กำจัด ลดหรือขจัดมลพิษซึ่งอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ ตามที่เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษกำหนด หรือได้ทำการตรวจสอบสภาพและทดลอง แล้วเห็นใช้การได้ ในการนี้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ ดังกล่าวหรือแหล่งกำเนิดมลพิษอื่นใดก็ตาม มีสิทธิขอรับการส่งเสริมและช่วยเหลือจากทางราชการได้ โดยยื่นต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติตามมาตรา 94 และมาตรา 95 ดังนี้
ขอรับความช่วยเหลือด้านอากรขาเข้า สำหรับนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ หรือวัสดุที่จำเป็นซึ่งไม่สามารถจัดหาได้ภายในประเทศ สำหรับการจัดให้มีระบบบำบัดอากาศเสีย
ขอรับอนุญาติผู้ชำนาญการผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศรวมทั้งขอยกเว้นภาษีเงินได้ของบุคคลนั้น ในกรณีที่ไม่สามารถจัดหาหรือว่างจ้างบุคคลที่มีคุณสมบัติภายในประเทศได้ เพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ติดตั้งควบคุม หรือดำเนินงานระบบบำบัดอากาศเสียที่นำเข้ามาในประเทศ
เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษที่กำหนดดังกล่าวที่ละเว้นไม่ใช้อุปกรณ์และเครื่องมือ ที่มีอยู่สำหรับการควบคุมมลพิษทางอากาศ และลักลอบปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่บรรยากาศ ต้องเสียค่าปรับรายวันในอัตรา 4 เท่า ของจำนวนเงินค่าใช้จ่ายประจำวันสำหรับการเปิดเครื่องทำงานของอุปกรณ์ และเครื่องมือดังกล่าวตลอดเวลาที่ดำเนินการเช่นว่านั้น
เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษอาจกำหนดให้มีผู้ควบคุมการดำเนินงานระบบบำบัดอากาศเสีย อุปกรณ์ หรือเครื่องมือดังกล่าวโดยผู้ควบคุมจะต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น มิฉะนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 105) และเจ้าของหรือผู้ครอบ ครองแหล่งกำเนินมลพิษที่จ้างบุคคลที่ถูกเพิกถอนเป็นผู้ควบคุม แล้วให้ควบคุมการทำงานของระบบ บำบัดอากาศเสีย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท
มาตรา 80
กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ ซึ่งมีระบบบำบัดอากาศเสียอุปกรณ์ หรือเครื่องมือ สำหรับควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสีย หรือผู้ควบคุมตามที่เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษกำหนด ต้องเก็บสถิติและข้อมูลในแต่ละวัน ซึ่งแสดงผลการทำงานของระบบ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือดังกล่าวโดยบันทึกรายละเอียดเป็นหลักฐานไว้ และจัดทำรายงานสรุปเสนอต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นอย่างน้องเดือนละครั้ง ตามหลักเกณฑ์วิธีการและแบบที่กำหนดไว้ในกฏกระทรวง
เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษผู้ใดฝ่าฝืนไม่จัดเก็นสถิติ ข้อมูล หรือไม่ทำบันทึกหรือ รายงานดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 106) ในกรณีที่การเก็บสถิติและข้อมูลการทำบันทึกรายละเอียด หรือการจัดทำรายงานสรุปไม่เป็นไป ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และแบบที่กำหนด หรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทำปรับไม่เกิน 100,000บ่าท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 104 และมาตรา 107)
มาตรา 81
ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นรวบรวมรายงานดังกล่าวส่งให้เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษที่อำนาจหน้าที่ในเขตท้องถิ่นนั้น เป็นประจำอย่างน้อยเดือนละครั้ง
มาตรา 82
ให้เจ้าพนักงาน ควบคุมมลพิษมีอำนาจ ในการควบคุมมลพิษทางอากาศดังนี้
  • เข้าไปในอาคารสถานที่และเขตที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม หรือแหล่งกำเนิดมลพิษในระหว่างเวลา พระอาทิตย์ขึ้น และพระอาทิตย์ตก หรือในระหว่างเวลาทำการหรือเมื่อมีเหตุอันควร สงสัยว่ามีการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้เพื่อครวจสภาพ และตรวจบันทึกรายละเอียดสถิติหรือข้อมูลเกี่ยวกับ การทำงานของระบบบำบัดอากาศเสียหรืออุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ เพื่อควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียผู้ใด ขัดขวาง หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท (มาตรา 108)
  • ออกคำสั่งให้เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือซ่อมแซมระบบบำบัดอากาศเสีย หรืออุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ เพื่อควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียในกรณีที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมให้แจ้งให้เจ้าพนักงานตามกฏหมาย ว่าด้วยโรงงาน ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป หากเจ้าพนักงานตามกฏหมายว่าด้วยโรงงานไม่ดำเนิน การตามอำนาจหน้าที่ของตน ให้เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษมีอำนาจในการดำเนินการดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
  • ออกคำสั่งเป็นหนังสือปรับตาม มาตรา 92 เพื่อปรับเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนินมลพิษที่ละเว้น ไม่ใช้อุปกรณ์และเครื่องมือที่มีอยู่สำหรับการควบคุมมลพิษทางอากาศและลักลอบปล่อยทิ้งอากาศเสียออก สู่บรรยากาศในกรณีที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม ให้แจ้งให้เจ้าพนักงานตามกฏหมายว่าด้วยโรงงานให้เป็น ผู้ออกคำสั่งปรับนั้น โดยให้ถือว่าเจ้าพนักงานตามกฏหมายว่าด้วยโรงงาน เป็นเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ หากเจ้าพนังงานตามกฏหมายว่าด้วยโรงงานไม่ดำเนินการออกคำสั่งปรับดังที่ได้กล่าวมาแล้วได้
  • ออกคำสั่งเป็นหนังสือเพิกถอนการเป็นผู้ควบคุมระบบบำบัดอากาศเสียอุปกรณ์ หรือเครื่องมือสำหรับ ควบคุม การปล่อยทิ้งอากาศเสีย ตามมาตรา 68 ในกรณีที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมนี้ กฏกระทรวงข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ประกาศ หรือเงื่อนไขที่ออก หรือกำหนดตามความในพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุม มลพิษ ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 109) เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิด มลพิษซึ่งจ้างบุคคลที่ถูกเพิกถอนการเป็นผู้ควบคุมแล้วให้ควบคุมการทำงานของระบบบำบัดอากาศเสีย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท
มาตรา 83
เพื่อประโยชน์ในการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมมลพิษทางอากาศ ให้เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษอาจเสนอแนะการสั่งปิด หรือพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาต หรือการสั่งให้ หยุดใช้ หรือทำประโยชน์เกี่ยวกับแหล่งกำเนิดมลพิษที่ต้องถูกควบคุมการปล่อยอากาศเสีย ตามาตรา 68 ที่จงไม่บำบัดอากาศเสียและลักลอบปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่บรรยากาศต่อเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจควบคุมดูแลแหล่งกำเนิดมลพิษนั้นตามกฏหมาย
มาตรา 87
เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ ผู้ควบคุมหรือบุคคลอื่นใดซึ่งไม่พอใจคำสั่งของเจ้า พนักงาน ควบคุมมลพิษ มีสิทธิร้องคัดค้างคำสั่งนั้นต่อคณะกรรมการควบคุมมลพิษภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ และให้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี หากไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัย ของคณะกรรมการควบคุมมลพิษภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยและให้ถือคำวินิจฉัย ของรัฐมนตรีเป็นที่สุด


ที่มา : กองอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร



พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535


พระราชบัญญัติการสาธารณสุข เป็นกฏหมายที่คุ้มครองด้านสุขลักษณะและการอนามัยสิ่งแวดล้อมหรือ การสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมซึ่งครอบคลุมทั้งกิจกรรม การกระทำทุกอย่าง และกิจการประเภทต่างๆที่มีผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชนตั้งแต่ระดับชาวบ้าน ครัวเรือน ชุมชน ตลอดจนกิจการขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ อันได้แก่หาบเร่ แผงลอย สถานที่จำหน่ายอาหาร ตลาดกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทต่างๆ รวม 125ประเภท รวมทั้งการเลี้ยงหรือ ปล่อยสัตว์โดยให้อำนาจแก่ราชการส่วน ท้องถิ่น ในการออกข้อกำหนดท้องถิ่น ใช้บังคับในเขต ท้องถิ่นนั้นๆ และให้ อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการควบคุมดูแล โดยการออกคำสั่งให้ ปรับปรุง แก้ไขการอนุญาต หรือไม่อนุญาต การสั่งพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาติ รวมทั้ง การเปรียบเทียบคดีและยังกำหนดให้มี "เจ้าพนักงานสาธารณสุข" เป็นเจ้าพนักงานสาย วิชาการที่มีอำนาจในการตรวจตรา ให้คำ แนะนำ ปรับปรุงแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่มีผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่น ในการวินิจฉัย สั่งการ หรือออกคำสั่ง รวมทั้งผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งจาากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เพื่อให้ปฏิบัติ การให้เป็นไปตามที่กฏหมายกำหนด พระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ.2535 มีบทบัญญัติ หรือข้อกำหนดที่ใช้ในการควบคุมมลพิษทางอากาศ ได้แก่ บทบัญญัติ ในหมวด 1 เรื่อง บททั่วไป มาตรา 6-8 หมวด 5 เรื่อง เหตุรำคาญ มาตรา 25-28 และหมวด 7 เรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มาตรา 31-33 หมวด 8 เรื่อง ตลาด สถานที่จำหน่ายอาหาร และสถานที่สะสมอาหาร ของพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 เป็นส่วนที่สามารถนำมาใช้ในการควบคุมมลพิษทางอากาศได้ ในที่นี้จะกล่าวอ้างถึง เฉพาะหมวด 1,5,7 ดังนี้คือ

หมวด 1 : บททั่วไป
มาตรา 6
ให้อำนาจรัฐมนตรีในการ
  • กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและ มาตรการในการควบคุมหรือกำกับดูแลสำหรับกิจการหรือดำเนิน การในเรื่องต่างๆ
  • กำหนดมาตรฐานสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสม กับการดำรงชีพของประชาชนและวิธีดำเนินการ เพื่อตรวจสอบ ควบคุมหรือกำกับดูแลหรือแก้ไข
ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 6 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท (มาตรา 68)
มาตรา 7
ให้ราชการส่วนท้องถิ่นดำเนินการควบคุมดูแลกิจการหรือการดำเนินการที่อยู่ในเขตอำนาจของ ท้องถิ่นนั้น ให้เป็นไปตามข้อกำหนดตามมาตรา 6 โดยอาจออกหรือแก้ไขปรับปรุงข้อกำหนดของท้อง ถิ่น ที่ใช้บังคับอยู่ก่อน
มาตรา 8
ให้อำนาจอธิบดีกรมอนามัยในการออกคำสั่งให้เจ้าของหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการก่อให้ เกิดหรืออาจเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ต่อสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสม กับการดำรงชีพของ ประชาชน ระงับการกระทำหรือให้ทำการใดๆ เพื่อแก้ไขหรือป้องกันความเสียหายหรือให้เจ้าพนักงาน สาธารณสุข ท้องถิ่นปฏิบัติการใด ๆ เพื่อแก้ไข หรือป้องกันความเสียหายดังกล่าวโดยให้ ผู้ก่อให้เกิด ความเสียหายเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายสำหรับการนั้น
ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของอธิดีกรมอนามัย หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าของเจ้าพนักงาน สาธารณสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 69)
หมวด 5 : เหตุรำคาญ (มาตรา 25 ถึง 28)

มาตรา 25
กำหนดให้กรณีที่มีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงหรือผู้ที่ ต้องประสบกับเหตุนั้นให้ถือว่าเป็นเหตุรำคาญ ซึ่งรวมถึง
  • อาคารอันเป็นที่อยู่ของคนและสัตว์ โรงงานหรือสถานที่ประกอบกิจการใดไม่มีการระบายอากาศ การระบายน้ำ การกำจัดสิ่งปฏิกูล หรือการควบคุมสารเป็นพิษหรือมีแต่ไม่มีการควบคุมให้ปราศ จากกลิ่นเหม็น หรือละอองสารเป็นพิษอย่างพอเพียง จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็น อันตรายต่อสุขภาพ
  • การกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใดจนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

มาตรา 26 ถึง 28
กำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจห้ามผู้หนึ่งผู้ใด มิให้ก่อเหตุรำคาญในที่ หรือทาง สาธารณะหรือสถานที่เอกชน โดยออกคำสั่งเป็นหนังสือให้บุคคลหรือเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ ซึ่งเป็นต้นเหตุ หรือเกี่ยวข้องกับการก่อให้เกิดเหตุรำคาญ ระงับกำจัด ควบคุม และป้องกันเหตุรำคาญ หรือมิให้ใช้ ยินยอมให้บุคคลใด ใช้สถานที่นั้น และให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถกระทำโดยวิธีใด เพื่อระงับเหตุ รำคาญและอาจจัดการตามความจำเป็น หรือให้ระบุไว้ในคำสั่งกำหนดวิธีการป้องกัน มิให้เหตุความรำคาญนั้นเกิดขึ้นอีกในอนาคตในการดำเนินการดังกล่าวให้บุคคลหรือเจ้าของ หรือผู้ ครอบ ครองซึ่งเป็น ต้นเหตุหรือเกี่ยวข้องกับการก่อให้เกิดเหตุรำคาญ เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายสำหรับการจัด การนั้น
ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ(มาตรา 74)
หมวด 7 : กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (มาตรา 31 ถึง 33)

มาตรา 31
ให้อำนาจแก่รัฐมนตรีในการกำหนดให้กิจการใด เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
มาตรา 32
ให้อำนาจแก่ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจ
  • กำหนดประเภทของกิจการตามมาตรา 31 บางกิจการหรือทุกกิจการเป็นกิจการที่ต้องมีการควบคุม ภายในท้องถิ่นเท่านั้น
  • กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทั่วไปและมาตรการป้องกันอันตรายต่อสุขภาพให้ผู้ดำเนินกิจการที่ เป็นอันตรายต่อสุขภาพปฏิบัติ เพื่อดูแลสภาพหรือสุขลักษณะของสถานที่ที่ใช้ดำเนินกิจการ
ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนดของท้องถิ่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 8 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 73)
มาตรา 33
กำหนดให้ผู้ที่ดำเนินกิจการที่ราชการส่วนท้องถิ่นกำหนดให้เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ  ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยเจ้าพนักงานท้องถิ่นอาจกำหนดเงื่อนไขโดยเฉพาะเพิ่มเติม ให้ผู้ดำเนินกิจการดังกล่าวปฏิบัติ เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของสาธารณชนได้
ผู้ใดดำเนินกิจการที่ส่วนท้องถิ่นกำหนดให้เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยไม่มีใบอนุญาติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 71)
ผู้รับใบอนุญาติผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาติต้องระวาง โทษ ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (มาตรา 76)
ที่มา : รวบรวมจาก กองอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร