ในหลวงกับสิ่งแวดล้อม

สายพระเนตรที่ยาวไกล ฟื้นชีวิต 3 นิเวศ ดิน น้ำ ป่า
วันอังคารที่ 08 กันยายน 2009 เวลา 14:38 น.




 “หากปล่อยทิ้งไว้ จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด” พระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัว เมื่อคราวที่เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ตำบลห้วยทราย (5 เมษายน 2526) พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นความเสื่อมโทรมของพื้นที่โดยรอบพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ที่มีแต่ความแห้งแล้งและดินเสื่อมโทรมอย่างรุนแรง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” จึงได้รับการจัดตั้งขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โดยมีกองกำกับการที่ 1 กองบังคับพิเศษ ตำรวจตระเวนชายแดนเป็นผู้ดูแลศูนย์ศึกษาฯ แห่งนี้
         ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ 3 ด้านหลักได้แก่
              * การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการดำเนินงานหลายวิธี อาทิ เช่น การปลูกหญ้าแฝก การสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นและการฟื้นฟูสภาพป่า
                  -  การปลูกหญ้าแฝก (กำแพงธรรมชาติที่มีชีวิต) แบ่งการปลูกเป็น 2 ลักษณะคือ  ปลูกขวางตามแนวระดับบนพื้นที่ลาดชัน เพื่อช่วยชะลอความเร็วของกระแสน้ำที่ชะล้างหน้าดินและปลูกเพื่อทลายดินที่แข็งเป็นดานให้สามารถใช้ประโยชน์ได้
                  -  การสร้างความชุ่มชื้น ดำเนินการโดยการสร้างฝายแม้ว (Check dam)  โดยการนำวัสดุตามธรรมชาติหรือที่มีอยู่ในพื้นที่มาใช้ปิดกั้นทางน้ำ ร่องเขาและพื้นที่ที่มีความลาดชันซึ่งอยู่ตอนบนของภูเขาเพื่อช่วยชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลงและดักตะกอนไว้ และการทำคันดินซึ่งสามารถทำได้ 2 ลักษณะคือ คันดินกั้นน้ำ (Terracing) เป็ฯการสร้างคันดินขวางพื้นที่ลาดเอียง ในบริเวณที่ราบเชิงเขา เพื่อเก็บกักน้ำไว้ในพื้นที่ และคันดินเบนน้ำ (Diversion) เป็นการขุดดินให้เป็นร่องหรือบางส่วนยกระดับคันดินให้สูงขึ้นเพื่อเชื่อมต่อกับคันดินกั้นน้ำ เมื่อมีฝนตกและปริมาณมาก น้ำจะสามารถไหลกระจายได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้คันดินทั้งสองแบบยังสามารถใช้เป็นถนนสัญจรไปมา และเป็นแนวป้องกันไฟป่าได้อีกด้วย
                  -  การฟื้นฟูสภาพป่าไม้ ดำเนินการใน 5 ลักษณะได้แก่
                     1. ปลูกป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง ประโยชน์อย่างที่ 1 คือ การปลูกไม้โตเร็วเพื่อพัฒนาและสร้างหน้าดินขึ้นใหม่ รวมทั้งยังสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ ประโยชน์อย่างที่ 2 คือ ปลูกไม้ดั้งเดิมที่มีความแข็งแรงและทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ประโยชน์ที่ 3 คือ ปลูกไม้เศรษฐกิจหรือไม้ผล เพื่อนำไม้มาใช้ในอนาคต ประโยชน์ที่ 4 คือการอนุรักษ์ดินและน้ำ ช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่
                     2. ระบบภูเขาป่า คือการนำพลังงานแสงอาทิตย์ สูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำขึ้นไปใส่ถังพักน้ำที่ก่อสร้างไว้บนภูเขาให้น้ำล้นและปล่อยให้ไหลกระจายไปตามพื้นที่โดยรอบถังพักน้ำ แล้วปลูกต้นไม้ไว้รอบๆพื้นที่ วิธีการนี้ทำให้พันธุ์ไม้มีอัตราการรอดตายค่อนข้างสูง เป็นการปลูกป่าจากด้านบนลงสู่ด้านล่าง
                     3. การปลูกป่าโดยไม้ต้องปลูกซึ่งเป็นผลที่ได้รับจากการสร้างระบบภูเขาป่าเนื่องจากพันธุ์ไม้ที่รอดตายและสามารถเจริญเติบโตได้ จะผลิดอกออกผล เมล็ดหรือผลที่แก่จะร่วงหล่น ทำให้เกิดการเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่หรือเมื่อไม่มีการบุกรุกพื้นที่ปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติในระยะเวลาหนึ่ง พืชต่างๆ ก็สามารถแตกหน่อและเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ได้ มีพืชพันธุ์ไม้ขึ้นเต็มร่องเขา เป็นการคืนป่าตามธรรมชาติโดยไม่ต้องปลูกสามารถประหยัดงบประมาณได้ด้วย
                     4. ระบบป่าเปียก เนื่องจากน้ำบางส่วนที่ไหลลงมาจากระบบภูเขาป่าจะไหลมาที่แนวฝายชะลอความชุ่มชื้นหรือฝายแม้ว (Check dam) ศูนย์ฯจะกระจายน้ำโดยใช้ท่อไม้ไผ่ ท่อสายยาง หรือท่อพีวีซีเจาะรูต่อขยายไปทางด้านข้างให้น้ำกระจายออกไป เพื่อสร้างความชุ่มชื้นในพื้นที่แล้วจึงทำการปลูกป่าเสริม
                     5. ป่าชายเลน เนื่องจากปริมาณน้ำที่ไหลจากพื้นที่ตอนบนของศูนย์ฯจะไหลเข้าสู่ระบบฝายชะลอความชุ่มชื้นหรือฝายแม้ว (Check dam) คันดินกั้นน้ำและคันดินเบนน้ำ ส่วนที่เหลือจะไหลลงสู่แหล่งน้ำตอนล่างแล้วออกสู่ทะเล บริเวณคลองบางกราใหญ่และบางกราน้อย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าชายเลนและป่าชายหาด ในเขตพื้นที่ค่ายพระรามหก ทำให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศมากขึ้น
         * การพัฒนาแหล่งน้ำ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ได้ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำโดยการจัดทำระบบเครือข่าย  (อ่างพวง) มีการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่จำนวน 4 อ่าง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด อ่างเก็บน้ำเขากระปุก อ่างเก็บน้ำห้วยทรายและอ่างเก็บน้ำหนองไทร แต่ละอ่างจะมีขนาดและความจุไม่เท่ากัน การทำงานของอ่างพวงใช้หลักการให้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ตอนบนปล่อยน้ำลงมาเติมอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดเล็กที่อยู่ตอนล่างโดยการเชื่อมต่อท่อส่งน้ำในแต่ละอ่างเก็บน้ำเข้าหากัน ทำให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
          * การพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระราชดำริเน้นการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูป่าไม้ให้กลับสมบูรณ์ดังเดิม สามารถปลูกพืชชนิดต่างๆ ได้ ควบคู่กับการปลูกป่า การจัดการแหล่งสนับสนุนการปลูกป่า การปลูกพืช จัดระเบียบราษฎรที่เข้ามาอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่โครงการฯ อย่างถูกต้องตามหลักวิชาและสอดคล้องกับธรรมชาติ ให้ราษฎรเข้าร่วมดูแลรักษา ตลอดจนได้อาศัยผลผลิตจากป่า และเพาะปลูกพืชต่างๆ โดยไม่ต้องบุกรุกทำลายป่าอีกต่อไป มีการดำเนินงานดังนี้
                 - การส่งเสริมอาชีพ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรประกอบอาชีพยึดหลักการตามแนวพระราชดำริ เช่น การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน และระบบวนเกษตร ฯลฯ
                 - สนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มอาชีพ เพื่อผลิตสินค้า เสริมรายได้ให้กับครอบครัว เช่น กลุ่มแปรรูปผลผลิตทางเกษตร กลุ่มเจียระไนพลอย กลุ่มทำผ้าบาติก กลุ่มทำกะปิ กลุ่มออมทรัพย์ เป็นต้น
                 - ด้านสุขภาพอนามัย มีการส่งเสริมให้ชุมชนได้รับความรู้ด้านสุขภาพอนามัย จัดให้มีการตรวจสุขภาพเบื้องต้น การวางแผนครอบครัว เป็นต้น
                 - ด้านการศึกษา สนับสนุนวิทยากรให้กับโรงเรียนในพื้นที่ ปัจจุบันมีโรงเรียนอยู่ในความรับผิดชอบจำนวน 10 โรงเรียน และศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน 1 แห่ง
                 - การเมือง การปกครอง สนับสนุนให้ราษฎรในชุมชนมีส่วนร่วมและมีบทบาทหน้าที่ในชุมชนของตนเอง การแสดงความคิดเห็นตลอดจนการกำหนดความจำเป็ฯพื้นฐานของท้องถิ่น เพื่อให้การพัฒนาท้องถิ่นเป็นไปตามความต้องการของชุมชน
           ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระราชปณิธานมุ่งมั่นที่จะแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชายไทยของพระองค์ ที่ได้ทรงริเริ่มและทรงเพรียรพยายามที่จะพลิกฟื้นผืนดินแห่งนี้ ให้กลับคืนสู่ความสมดุลอย่างสอดคล้องและสัมพันธ์กัน ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประชาชน เพื่อให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” เป็น “ระบบการบริหารเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว” นับเป็นรูปแบบใหม่ของการบริหารจัดการ ขณะนี้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้ประสบความสำเร็จแล้ว นับเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่แห่งการพัฒนา สมดังพระราชปณิธานที่ทรงวางไว้ทุกประการ (วารสารมูลนิธิชัยพัฒนา)




ในหลวงกับสิ่งแวดล้อม
วันจันทร์ที่ 27 เมษายน 2009 เวลา 16:36 น.



“...ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่มีความสำคัญควบคู่กับการพัฒนา 
ความเจริญก้าวหน้าซึ่งเป็นปัญหาร่วมกันของทุกประเทศ กล่าวคือการพัฒนา 
ยิ่งรุดหน้าปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และภาวะมลพิษก็ยิ่งก่อตัว และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่ง 
ที่กำลังประสบกับปัญหาดังกล่าวอยู่ในขณะนี้...”พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2545

    นับตั้งแต่ในหลวงของเราขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2493 ท่านทรงมีพระราชกรณียกิจหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นด้านการอนุรักษ์น้ำ ดิน หรือป่าไม้ โดยพระราชกรณียกิจเหล่านี้เกิดขึ้นจากพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถในการคิดค้น ดัดแปลง ปรับปรุง และ
แก้ไขทฤษฎี และวิธีการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ของพสกนิกรและระบบนิเวศอันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable Development) ของประเทศไทยของเรา ดังนั้น เราจึงขนานนามในหลวงของเราว่า “พระบิดาแห่งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”